ประวัติสมาคมฯ

บทความในอดีต

เนื้อหาของบทความนี้นำมาจากวารสารฉบับปฐมฤกษ์
วารสารวัณโรคและโรคทรวงอก
ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2523

สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

สงคราม  ทรัพย์เจริญ พ.บ., M.P.H., F.C.C.P.
เลขาธิการสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหน่วยงานอาสาสมัครด้านการควบคุมวัณโรคในประเทศไทย ซึ่งมีประวัติการริเริ่มก่อตั้งและดำเนินการสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน โดยได้รับความสนับสนุนร่วมมือด้วยดีจากท่านผู้มีอุปการะคุณต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งจากวงการของรัฐและภาคเอกชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้สมาคมมีหลักฐานมั่นคง สามารถดำเนินการให้ความร่วมมือเคียงข้างกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับในการต่อต้านปราบปรามวัณโรคอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ จึงเป็นการสมควรที่จะได้กล่าวถึงประวัติการริเริ่มก่อตั้งและความเป็นมา รวมทั้งการดำเนินงานของสมาคมไว้ในโอกาสนี้ ซึ่งเป็นวาระที่วารสารวัณโรคและโรคทรวงอกจะได้จัดพิมพ์ออกเผยแพร่เป็นฉบับปฐมฤกษ์

ประวัติการริเริ่มและก่อตั้งสมาคม

ในอดีตก่อนพบวิธีการรักษาวัณโรคที่มีประสิทธิภาพเช่นในปัจจุบันนั้น ก็คงจะเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่าวัณโรคเป็นโรคซึ่งเป็นที่หวาดกลัวของประชาชน และเป็นที่รังเกียจของสังคมเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยวัณโรคจัดเป็นโรคที่ระบาดแพร่หลายมากในชุมชน นับเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของประเทศโรคหนึ่ง แต่ในระยะแรกนั้นประเทศไทยมีปัญหาการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ อยู่อีกมาก อาทิ เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรคและไข้ทรพิษ ซึ่งเป็นสาเหตุของการตายโดยรวดเร็วรุนแรงกว่าวัณโรคจึงทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐ ยังไม่สามารถให้ความสนใจการปราบปรามวัณโรคในขณะนั้นได้

จนถึงในปี 2463 ได้มีการริเริ่มเชิญชวนรัฐบาลและประชาชน ให้ทำการต่อต้านและปราบวัณโรคขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชการลปัจจุบันซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชกรมขุนสงขลานครินทร์ ทั้งนี้โดยที่พระองค์ได้ทรงพิจารณาเห็นความร้ายแรงของวัณโรค ซึ่งมีต่อสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของสังคมไทย จึงได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “ทูเบอร์คุโลสิส” ขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้ได้รู้จักเรื่องเกี่ยวกับวัณโรค โดยเฉพาะเกี่ยวกับการรักษาและการป้องกัน ในครั้งแรกได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ในปี พ.ศ. 2463 แล้วจึงได้ประทานให้กรมสาธารณสุขในสมัยนั้น นำไปพิมพ์เป็นเอกสารสาธารณสุขอีกหลายครั้งเพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชน นับเป็นการให้สุขศึกษาแก่ประชาชนโดยตรงและเป็นการกระตุ้น กรมสาธารณสุขให้เริ่มสนใจในอัตรายร้ายแรงของปัญหาเกี่ยวกับโรคในประเทศไทยสืบต่อมา พระองค์จึงทรงควรแก่การเทอดพระเกียรติเป็นองค์บุพการีของผู้อาสาสมัครทำงานด้านการควบคุมวัณโรคในประเทศไทย

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2472 ได้มีผู้ดำริเรื่องการต่อสู้ปราบปรามวัณโรคนี้ขึ้นอีก ดังปรากฏในบันทึกการประชุมของแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม (แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์) เกี่ยวกับการริเริ่มก่อตั้งสมาคมปราบวัณโรคเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ซึ่ง ม.จ.วัลลภากร วรวรรณ กรรมการท่านหนึ่งของแพทยสมาคมในสมัยนั้นได้อภิปรายไว้ว่า “……..เรื่องการต่อสู้กับวัณโรคในประเทศไทยเรานี้ นายแพทย์เอลลิส ได้เคยดำริครั้งหนึ่งแล้วใน พ.ศ. 25472 โดยได้เสนอความเห็นให้สภาพกาชาดเป็นผู้ดำเนินการคณะกรรมการสภากาชาดได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา มีนายแพทย์เอลลิส เป็นประธาน และพระจรัญโรควิจารณ์กับข้าพเจ้าเป็นอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการได้เสนอรายงานดังสำเนาที่ได้ลงในจดหมายเหตุทางการแพทย์เล่ม 11 หน้า 241 และสภากาชาดได้ส่งรายงานนี้ไปให้สภาการสาธารณสุขพิจารณา แต่เป็นที่น่าเสียใจที่เรื่องนี้ได้ไปตกค้างอยู่ที่สภาการสาธารณสุขจนบัดนี้ปัญหาจึงมีอยู่ว่าสภากาชาดจะรื้อฟื้นเอาเรื่องการต่อสู้กับวัณโรคมาดำเนินการตามข้อเสนอของอนุกรรมการหรือไม่ ตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้านั้นเห็นว่าสภากาชาดคงจะไม่ดำริทำการในขั้นนี้…………..” การดำรินี้แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จในขณะนั้นก็ตาม แต่ก็มีผลในการกระตุ้นและเป็นประโยชน์ประกอบแนวความคิดในการริเริ่มงานปราบปรามวัณโรคได้ในเวลาต่อมา

การริเริ่มงานก่อตั้งสมาคมปราบวัณโรคที่ได้ปรากฏเป็นผลสำเร็จจริงจังมาจนถึงปัจจุบันนี้เริ่มขึ้นจากมติของการประชุมแพทยสมาคมในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ที่ได้กล่าวถึงแล้วข้างต้นสภาพนายกของแพทยสมาคม ในสมัยนั้นได้แก่ หลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์ โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นสมควรให้สมาคมทำประโยชน์ด้ารการแพทย์แก่ประชาชนและได้พิจารณาเห็นว่าการปราบและป้องกันวัณโรคเป็นสิ่งที่เหมาะสมและจำเป็นในขณะนั้นเพราะเป็นโรคร้ายและแพร่หลาย ทั้งยังไม่มีองค์การใดๆ ทำการเกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ จึงลงมติให้จัดตั้งกองการปราบวัณโรคขึ้น โดยจัดเป็นงานส่วนหนึ่งของแพทยสมาคมมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการปราบวัณโรค โดยร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน และมีโครงการดำเนินงานเป็น 5 ข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับ 1. ผู้ป่วยวัณโรค  2. ผู้ที่หายป่วยจากวัณโรค  3. ผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรค  4. การป้องกันวัณโรคให้แก่ประชาชนทั่วไปและ  5. การอบรมแพทย์ พยาบาล รวมทั้งการค้นคว้าเรื่องวัณโรค

ในการบริหารงานนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นรวม 60 คน จากอาชีพต่างๆ กัน ทำหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และคณะกรรมการกลางเป็นผู้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารจากสมาชิกของคณะกรรมการรวม 11 คน ทำหน้าที่บริหารงานให้เป็นไปตามนโยบายของสมาคมฯ และคณะกรรมการกลาง

เมื่อกองการปราบวัณโรคของแพทยสมาคมแห่งกรุงสยามได้จัดวางรูปโครงการและตั้งระเบียบข้อบังคับเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้จดทะเบียนเป็น “สมาคมกองการปราบวัณโรคแห่งกรุงสยาม” อย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 มีสำนักงานกลางตั้งอยู่ที่สำนักงานแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม ถนนบำรุงเมือง จังหวัดพระนคร

ประวัติความเป็นมาและการดำเนินงาน

ในระยะต่อมาหลังจากได้จัดตั้งสมาคมตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว อาจกล่าวถึงลำดับความเป็นมาและการดำเนินงานของสมาคมที่สำคัญๆ ได้ดังนี้ :-

พ.ศ. 2478 : 27 กรกฎาคม 2478 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมกองการปราบวัณโรคแห่งกรุงสยามไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งโอกาสนั้นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกหลายท่าน ได้รับเป็นอุปถัมภกของสมาคมด้วย

: 25 กันยายน 2478 เปิดทำการตรวจรักษาผู้ป่วยขึ้น ณ สถานีตรวจรักษาวัณโรค โดยใช้สถานที่ของสถานีอนามัยที่ 1 ถนนบำรุงเมือง ทั้งนี้ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสภากาชาดสยามให้สถานที่ร่วมทั้งเครื่องใช้และเวชภัณฑ์อื่นๆ ด้วย ในการนี้ได้จัดตั้งกรรมการแผนกสถานีตรวจและรักษาวัณโรคขึ้นประกอบด้วยกรรมการแพทย์ของแพทยสมาคม 24 ท่าน โดยมีนายประเสริฐ กังสดาลย์ เป็นประธาน

ในระหว่างปี 2478 นี้ สมาคมฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากนาย โอวบุ้นโฮ้ว บริจาคเงิน 3 แสนบาท เพื่อให้จัดตั้งสำนักงานและสถานตรวจรักษาวัณโรคขึ้นใหม่ในที่ดินราชพัสดุ ถนนพหลโยธิน ตำบลสามเสนใน

พ.ศ. 2482 : สมาคมกองการปราบวัณโรคได้ย้ายสำนักงานมาตั้งอยู่ ณ พหลโยธิน ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันและได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระยะนี้แพทยสมาคมและสภากาชาดได้งดให้ความช่วยเหลือสมาคม เพราะมีหลักฐานมั่นคงและสามารถดำเนินการได้เองอิสระแล้ว ในระยะนี้เองที่รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของโรคนี้และได้จัดตั้งโรงพยาบาลวัณโรคแห่งแรกขึ้นในจังหวัดนนทบุรี

พ.ศ. 25484 : รัฐบาลได้อนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่สมาคมปีละ 10,000 บาท แต่ได้ถูกต้อออกเหลือเพียง 5,000 บาท  เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินในการป้องกันประเทศ เนื่องในกรณีพิพาทอินโดจีน และปีต่อมาถูกตัดลงอีกเหลือเพียง 2,500 บาท ต่อมาจึงได้รับ 5,000 บาทตามเดิม แต่ภายหลังรัฐบาลได้ให้เงินเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 9,000 บาท ตลอดมาจนถึงปี พ.ศ. 2494 แต่สมาคมฯ ก็ได้พยายามหาเงินโดยวิธีการต่างๆ รวมทั้งได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมเข้าเป็นสมาชิกโดยเสียเงินค่าบำรุงตามสมควร

หลังจากปี 2485 ซึ่งได้จัดตั้งโรงพยาบาลวัณโรคของทางราชการขึ้นแล้ว โครงการวัณโรคก็ได้รับการสนับสนุนจากหลายวงการทั้งในและนอกประเทศ มีการจัดตั้งโครงงานและหน่วยงานใหม่ๆ ขึ้นอีกหลายแห่งทำให้การดำเนินงานด้านการควบคุมวัณโรคเป็นผลดีขึ้นตามลำดับ งานสำคัญที่สมควรจะได้นำกล่าวคือ การจัดตั้งสถานตรวจโรคปอดของกรมอนามัยขึ้นในจังหวัดพระนครเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2492

พ.ศ. 2494 : ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางและคระกรรมการบริหารของสมาคมชุดใหม่ หลังจากกิจการของสมาคมได้หยุดชะงักไปชั่วคราวในระหว่างเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2 สมาคมได้ขอให้กรมอนามัยส่งแพทย์มาทำการรักษาผู้ป่วยวัณโรคให้แก่สมาคมซึ่งกองควบคุมวัณโรค กรมอนามัยได้จักแพทย์จากสถานตรวจโรคปอด ผลัดเปลี่ยนมาช่วยสมาคมจนถึงปี พ.ศ. 2496

ปี พ.ศ. 2496 : กรมตำรวจขอใช้อาคารที่ทำการของสมาคม เพื่อทำเป็นที่ทำการกองอำนวยการอาสารักษาดินแดน ซึ่งต่อมาได้ตั้งเป็นกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และได้สร้างอาคารสำนักงานของสมาคมให้ใหม่ในที่ดินติดต่อกันงานของสมาคมได้ชะงักไประยะหนึ่ง ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างนี้

พ.ศ. 2498 : ได้เปิดสำนักงานใหม่ของสมาคมขึ้น ณ อาคารที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ในระยะนี้สมาคมได้มีบทบาทช่วยขยายงานการควบคุมและป้องกันวัณโรคของทางราชการ โดยอนุมัติให้กรมอนามัยใช้อาคารชั้นล่างของสมาคม เพื่อเปิดที่ทำการสาขาของสถานตรวจโรคปอดกองควบคุมวัณโรคขึ้นในปี พ.ศ. 2499 ในการนี้ กรมอนามัยได้ให้เงินอุดหนุนการดำเนินงานของสมาคม ปีละ 50,000 บาท

พ.ศ. 2500 : สมาคมเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งสหภาพต่อต้านวัณโรคสาขาภูมิภาคตะวันออกและได้มีการก่อตั้งสมาคมปราบวัณโรคเชียงใหม่ขึ้นในปีนี้

พ.ศ. 2503 : ได้มีการปรับปรุงกิจการของสมาคมให้ดีขึ้น โดยได้เชิญบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเป็นกรรมการกลาง ซึ่งได้มีการจัดตั้งขึ้นใหม่รวมทั้งคณะกรรมการบริหารด้วย เพื่อบริหารงานแทนคณะกรรมการชุดเก่าซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปื พ.ศ. 2494 คณะกรรมการชุดใหม่นี้ได้พยายามปรับปรุงงานของสมาคมและร่วมมือกับทางราชการตลอดจนองค์การและสถาบัน หรือสมาคมอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน เช่น สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย วิทยาลัยแพทย์ทรวงอกอเมริกันประจำประเทศไทย เป็นต้น

โรงพยาบาลสมาคมปราบวัณโรค

พ.ศ. 2504 : สมาคมได้รับมอบโรงพยาบาลประสานมิตรจากนายอื้อจือเหลียง มาเพื่อดำเนินงานบำบัดรักษาผู้ป่วยวัณโรคเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2504 โรงพยาบาลนี้ นายอื้อจือเหลียง ได้เช่าที่ดินและอาคารไว้ดำเนินการมาเป็นเวลานาน เมื่อได้รับมอบกิจการแล้วสมาคมต้องเป็นผู้รับโอนเช่านต่อจากนายอื้อจือเหลียง โรงพยาบาลนี้มีจำนวนเตียงรับผู้ป่วยได้ 100 เตียง ตั้งอยู่ที่ซอยจินดาถวิล ถนนพระราม 4 สำหรับสถานตรวจโรคปอดสาขาสมาคมก็คงดำเนินงานต่อไป ในปี พ.ศ. 2505 สมาคมปราบวัณโรคฯ ได้รับมอบหน่วยรักษาเคลื่อนที่อำเภอดุสิต และจังหวัดธนบุรีจากกรมอนามัย มาดำเนินการโดยทุนของสมาคมเองและได้เริ่มงานศัลยกรรมทรวงอกขึ้นที่โรงพยาบาลประสานมิตรนี้ด้วย

ต่อมาก็ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ขึ้นในบริเวณที่ทำการของสมาคมซึ่งแล้วเสร็จในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2512 เพื่อรับการรักษาผู้ป่วยแทนโรงพยาบาลประสานมิตรเดิม เนื่องจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ขอคืน ในการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นใหม่นี้ สมาคมได้รับอนุมัติเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4,135,000 บาท รวมเป็นเงินใช้ในการก่อสร้างทั้งสิ้น 4,211,000 บาท

ในวันที่  1 กันยายน 2512 สมาคมได้ย้ายคนไข้จากโรงพยาบาลประสานมิตรมาอยู่ ณ โรงพยาบาลที่จัดสร้างขึ้นใหม่ในบริเวณสมาคม และเมื่อมีการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกใหม่แล้วเสร็จก็ได้ย้ายการดำเนินงานตรวจรักษาผู้ป่วยนอกมา ณ อาคารที่จัดสร้างขึ้นใหม่เมื่อ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2514 ในปีนี้เองคณะกรรมการกลางฯ ก็ได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อจากโพรงพยาบาลประสานมิตรเป็นโรงพยาบาลสมาคมปราบวัณโรค เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับงานของสมาคมฯ

ในปี พ.ศ. 2521 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2521 กำหนดให้โรงพยาบาลสมาคมปราบวัณโรคเป็นสถานพยาบาลของราชการ โดยโรงพยาบาลของสมาคมได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้เป็นโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยซึ่งเป็นข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐบาล รวมทั้งครอบครัว สามารถเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลได้เต็มจำนวน โดยอนุโลมตามกฎข้อบังคับเช่นเดียวกันกับโรงพยาบาลของทางราชการทุกประการ

พ.ศ. 2504 : ในปีนี้ได้มีการจัดพิมพ์ดวงตราผนึกต่อต้านวัณโรคขึ้นออกจำหน่าย เพื่อสมทบทุนการกุศลเป็นปีแรก

: วันที่ 20 ตุลาคม 2504 ได้มีการจัดงานวันต่อต้านวัณโรคขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในงานนี้ได้มีคหบดีบริจาคเงินสมทบทุนต่อต้านวัณโรคด้วย และนับแต่ปี 2504 เป็นต้นมา ได้จัดให้มีสัปดาห์ต่อต้านวัณโรคเริ่มในวันที่ 20 ตุลาคม ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยดำเนินการร่วมกับกองควบคุมวัณโรค กองโรงพยาบาลวัณโรคและกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเทศบาลของสมาคมฯ ได้มีมติเปลี่ยนเวลาการจัดงานสัปดาห์ต่อต้านวัณโรคมาเป็นในระหว่างเดือนสิงหาคม โดยได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา

: ในปีนี้สมาคมฯ ได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพต่อต้านวัณโรคระหว่างประเทศ (The International Union Against Tuberculosis IUAT) 

: ร่วมมือกับสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยจัดหลักสูตรฟื้นฟูวิชาการโรคทรวงอกขึ้นเป็นครั้งแรก

: ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการสหภาพต่อต้านวัณโรคสาขาภูมิภาคตะวันออก ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน ณ ศาลาสันติธรรม มีผู้แทนจากประเทศต่างๆ มาร่วมประชุม 10 ประเทศ

พ.ศ. 2507 : สหภาพต่อต้านวัณโรค ระหว่างชาติ ภาคตะวันออกได้ย้ายสำนักงานจากประเทศอินเดียมาอยู่ที่ประเทศไทย เป็นเวลา 4 ปี และได้ย้ายสำนักงานไปที่ประเทศมาเลเซีย

: รัฐบาลได้เริ่มขยายโครงการสำรวจการตรวจรักษา และป้องกันวัณโรคให้ทั่วทั้งจังหวัดพระนครและธนบุรี ในการนี้สมาคมได้ให้ความร่วมมือกับทางราชการ จัดบริการตรวจเอ็กซเรย์ปอดแก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 3 ล้านบาท

พ.ศ. 2508 : ในการปฏิบัติงานข้างต้นนี้ได้พบว่านอกจากวัณโรคแล้ว ยังมีโรคปอดอื่นๆ ที่เป็นอันตรายและบั่นทอนสุขภาพของประชาชนอยู่อีกมาก สมาคมจึงเห็นสมควรได้จัดตั้งหน่วยงาน เพื่อศึกษาสาเหตุในการรักษาและป้องกันโรคต่างๆ ดังกล่าว ควบคู่ไปกับงานค้นคว้าและต่อต้านวัณโรคด้วย จึงมีมติจัดตั้ง สถาบันโรคทรวงอก ขึ้นในปีนี้

พ.ศ. 2509 : ทำพิธีเปิดอาคารสถาบันโรคทรวงอก ในวันที่ 1 เมษายน 2509 ค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างอาคารสถาบันฯ ห้องประชุม และการตกแต่งสถานที่โดยรวบรวมทั้งการจัดซื้อเครื่องใช้และอุปกรณ์การแพทย์ ได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานสลากกินแบ่งรวมเป็นเงิน 2,230,000 บาท และสมาคมได้ออกเงินสมทบอีกเป็นเงิน 212,000 บาท นอกจากนั้นยังมีผู้บริจาคทรัพย์ วัสดุ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้แก่สถาบันฯ อีกเป็นจำนวนมาก

วัตถุประสงค์และการบริหารงานของสมาคมในปัจจุบัน

วัตถุประสงค์และการบริหารงานของสมาคม ในปัจจุบันเป็นไปตามกฎข้อบังคับของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉบับแก้ไขครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2516) ซึ่งอาจกล่าวโดยสังเขปได้ดังนี้ คือ

สมาคมมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการและสนับสนุนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์และองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันในการป้องกันรักษา ควบคุม และกำจัดวัณโรคให้หมดไปโดยกำหนดวิธีการปฏิบัติไว้ดังนี้คือ

สนับสนุนกิจการตรวจรักษาผู้ป่วยวัณโรค

ดำเนินการและร่วมมือในด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันและควบคุมวัณโรค

ดำเนินการและร่วมมือในการวิจัยเรื่องวัณโรค และเผยแพร่ความรู้เรื่องวัณโรค ให้แก่กลุ่มวิชาชีพ

ดำเนินการและส่งเสริมการสุขศึกษาเรื่องวัณโรคให้แก่ประชาชน

ปฏิบัติการอื่นๆ อันจะพึงบังเกิดคุณประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ เช่นการแยกตั้งสาขา การขยายหน้าที่กิจการ ให้เหมาะสมกับภาวะการณ์ เป็นต้น

สมาคมฯ มีกรรมการควบคุมและบริหารกิจการโดยแบ่งออกเป็น 2 คณะดังนี้คือ

1. คณะกรรมการกลาง มีหน้าที่ควบคุมกิจการทั่วไปแทนมวลสมาชิกและสอดส่องอำนวยการเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาคม

คณะกรรมการกลางมีจำนวนอย่างน้อย 30 คน อย่างมากไม่เกิน 60 คน ประกอบด้วยบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการกลางที่เหลือกอยู่มีมติเชื้อเชิญและแต่งตั้งขึ้น โดยมีกำหนดการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่กรรมการที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว มีสิทธิรับเลือกเป็นกรรมการอีกได้ คณะกรรมการกลางจะเลือกกันขึ้นเองเป็นประธาน 1 รองประธาน 1 เลขาธิการ 1 และนายกกรรมการบริหาร 1

2. คณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่จัดดำเนินกิจการของสมาคมฯ เพื่อให้บังเกิดผลตามวัตถุประสงค์ภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบการ และอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกลาง

คณะกรรมการบริหาร มีจำนวนอย่างน้อย 9 คน อย่างมากไม่เกิน 15 คน โดยนายกคณะกรรมการบริหาร ได้รับการเลือกตั้งจากคณะกรรมการกลาง แล้วจึงเลือกบุคคลที่เห็นสมควรเป็นคณะกรรมการบริหารเสนอประธานคณะกรรมการกลางพิจารณาแต่งตั้ง โดยมีกำหนดการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และนายกกรรมการบริหารจะเลือกกรรมการในคณะขึ้นเป็นอุปนายก 1 เหรัญญิก 1 เลขานุการ 1 หรือตำแหน่งอื่นอีกตามที่เห็นสมควร

ทั้งนี้คณะกรรมการทั้ง 2 คณะสามารถจะตั้งคณะกรรมการหรือ คณะอนุกรรม การขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อช่วยปฏิบัติกิจการเป็นครั้งคราวหรือประจำก็ได้

กิจกรรมของสมาคมในปัจจุบัน

การดำเนินงานสัปดาห์รณรงค์ต่อต้านวัณโรคเป็นประจำปีโดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร ซึ่งจุดมุ่งหมายหลักในการดำเนินงานนั้นเพื่อเป็นการให้สุขศึกษาแก่ประชาชน ในด้านการป้องกันและรักษาวัณโรค การให้บริการฉีดวัคซีนบีซีจี แลเอ๊กซเรย์ปอดแก่ประชาชนโดยกว้างขวางและในโอกาสนี้ได้จัดจำหน่ายดวงตราผนึกต่อต้านวัณโรคแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่สมาคมแล้ว ยังช่วยในด้านการให้สุขศึกษาแก่ประชาชน โดยการเผยแพร่คำขวัญต่อต้านวัณโรคต่างๆ ให้กว้างขวางทั่วถึงด้วย

ด้านการรักษาพยาบาล

สมาคมฯ มีโรงพยาบาลตรวจรักษาผู้ป่วยวัณโรคและโรคปอดอื่นๆ รวมทั้งโรคของระบบอวัยวะหายใจต่างๆ ด้วย โดยตรวจรักษาทั้งคนไข้นอกและคนไข้ภายใน มีเตียงรับคนไข้ได้จำนวน 100 เตียง ทั้งนี้โดยมีหลักการใหญ่ที่จะช่วยตัดการแพร่เชื้อวัณโรคจากผู้ป่วยให้หมดไปในระยะสั้นและให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากวัณโรคโดยเร็ว เป็นการสนับสนุนงานด้านการรักษาพยาบาลของรัฐ ซึ่งยังขาดสถานที่รักษาผู้ป่วยอยู่มาก

งานด้านการสุขศึกษา

นอกจากในระหว่างสัปดาห์การต่อต้านวัณโรคประจำปีแล้วยังได้จัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการป้องกันวัณโรคแจกจ่ายแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปรวมทั้งการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนอื่นๆ อีกด้วย และนอกจากการสุขศึกษาเรื่องเกี่ยวกับวัณโรคแล้ว ยังได้เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับโรคทางระบบหายใจอื่นๆ ด้วย

งานด้านวิชาการ

4.1 สมาคม ได้ทำการอบรมแพทย์เกี่ยวกับวัณโรค โดยเน้นหนักในทางปฏิบัติเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ในคลีนิค ศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ไม่มีเครื่องมือพร้อมเพรียง รวมทั้งเน้นเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมวัณโรคในชุมชนด้วย

4.2 ร่วมมือกับสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ตลอดจนให้สถานที่ทำการอบรมฟื้นฟูวิชาการโรคทรวงอก และวัณโรคโดยเฉพาะแก่แพทย์ทั่วไป

4.3 ร่วมมือกับสมาคม (ชมรม) ศัลยกรรมทรวงอกและให้สถานที่ทำการฟื้นฟูวิชาการ

4.4 งานเกี่ยวกับห้องปฏิบัติการด้านการตรวจและเพาะเชื้อวัณโรค ตลอดจนการทดสอบความไวของเชื้อต่อยาต่างๆ นั้น นอกจากสมาคมฯ จะได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านงานบริการศึกษาวิจัยทางห้องปฏิบัติการกับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการ

นอกจากนั้นสมาคมยังสนับสนุนและให้ทุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตรวจรักษาและป้องกันวัณโรคอีกด้วย

4.5 จัดให้มีการประชุมวิชาการวิชาการ Chest Conference โดยมีแพทย์ผู้ชำนาญทางโรคทรวงอกจากสถาบันต่างๆ มาร่วมประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

งานด้านสังคมสงเคราะห์

สมาคมฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลและด้านสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ป่วยยากจนที่ป่วยเป็นวัณโรคและโรคระบบหายใจอื่นๆ ตามสมควร โดยช่วยลดค่ารักษาพยาบาลหรือให้การักษาโดยไม่คิดมูลค่าแก่ผู้ป่วยตามความจำเป็น โดยพิจารณาเป็นรายๆ ไป นอกจากนี้ได้ส่งเงินช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ให้แก่ผู้ป่วยของสถานตรวจโรคปอดและโรงพยาบาลโรคทรวงอกเป็นประจำปีด้วย

งานต่างจังหวัด

โดยที่ความสำเร็จในงานควบคุมวัณโรคในต่างจังหวัดนั้น จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานอาสาสมัครเป็นอย่างมากเพื่อช่วยในการรับยา การติดตามผู้ป่วยที่ขาดการรักษาให้ไปรับการรักษาจนหายขาด และการนัดหมายให้เด็กไปรับการฉีดวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค ดังนั้นหากงานด้านอาสาสมัครในชนบทนี้ได้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นเท่าไรงานควบคุมวัณโรคก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้นเพียงนั้น

ปัจจุบันสมาคมได้ให้ความร่วมมือกับกองวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดหาและอบรม อาสาสมัครอนามัยประจำหมู่บ้าน เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งยังไม่เป็นการเพียงพอจำเป็นต้องขยายงานด้านอาสาสมัครนี้ ให้กว้างขวางขึ้นอีกโดยพยายมจัดตั้งองค์การอาสาสมัครเพิ่มขึ้นในต่างจังหวัดเพื่อช่วยงานของรัฐในด้านการปราบปรามวัณโรค โดยติดต่อประสางานกับสมาคมปราบวัณโรคฯ ในส่วนกลางอย่างใกล้ชิด ในการนี้สมาคมได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากสหภาพต่อต้านวกัณโรคระหว่างประเทศให้พยายามจัดตั้งและส่งเสริมงานดังกล่าวแล้วโดยเร็ว ซึ่งสมาคมกำลังดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว และคาดว่าจะได้รับความสำเร็จในการจัดตั้งองค์การอาสาสมัครจังหวัดในระยะเวลาอันใกล้นี้