นิพนธ์ต้นฉบับ
Original Article
โครงการประเมินผลการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB), ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง (pre XDR-TB) และผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานที่รักษายาก (difficult to treat MDR-TB) ที่ขึ้นทะเบียนรักษาด้วยสูตรยารายการใหม่ ปีงบประมาณ 2559-2561
ผลิน กมลวัทน์ พ.บ.
กองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
บทคัดย่อ
ปี พ.ศ. 2561 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดแนวทางในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน โดยแบ่งยาในการรักษาเป็น 3 กลุ่ม การรักษาใช้ยารักษาตัวใหม่และสูตรยาใหม่เพื่อเพิ่มอัตราการหายและลดอัตราการเสียชีวิตจากวัณโรค เช่น bedaquiline, delamanid หรือนำยาที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคอื่นมาใช้ (off-label use) เช่น linezolid, clofazimine การใช้ยาต้องมีระบบการเฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้ยาเชิงรุก (active drug safety monitoring and management: aDSM)3 การศึกษานี้เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน
ผลการศึกษา พบว่าปีงบประมาณ 2559-2561 มีผู้ป่วย XDR-TB/preXDR-TB/difficult to treat MDR-TB ทั้งหมด 56 ราย ผู้ป่วยที่ศึกษาส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 37 ราย (ร้อยละ 66.1) มีอายุอยู่ระหว่าง 41-50 ปี จำนวน 18 ราย (ร้อยละ 32.1) โรคประจำตัวที่พบมากที่สุด คือเบาหวาน 25 ราย (ร้อยละ 86.2) และแบ่งประเภทผู้ป่วยตามผลการทดสอบความไวต่อยาคือผู้ป่วย XDR-TB 30 ราย (ร้อยละ 51.9), ผู้ป่วย pre XDR-TB จำนวน 22 ราย (ร้อยละ 40.7) และผู้ป่วย difficult to treat MDR-TB จำนวน 4 ราย (ร้อยละ 7.4) ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 56 ราย สูตรยาที่ใช้ในการรักษามากที่สุดคือสูตร: 6Cm-Bdq-Mfx-Lzd-Cfz/14-18 Mfx-Lzd-Cfz 34 ราย (ร้อยละ 60.7), รองลงมาคือสูตร: 6Cm-Bdq-Lzd-Cfz/14-18 Lzd-Cfz 10 ราย (ร้อยละ 17.1) จากการรักษาพบว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากที่สุด คือมีค่า creatinine ในเลือดสูง 31 ราย (ร้อยละ 57.4) รองลงมา คือ อาการคลื่นไส้อาเจียน พบ 25 ราย (ร้อยละ 46.3) และคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (QT prolong/abnormal EKG) 14 ราย (ร้อยละ 25.9) อัตราผลสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานในปีงบประมาณ 2559, 2560 และ 2561 คือ ร้อยละ 75.0, 81.3 และ 87.5 ตามลำดับ และเมื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเภทการดื้อยาของผู้ป่วยกับผลการรักษาของผู้ป่วยในแต่ละประเภท พบว่าไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p >0.05)
ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว ควรมีการประเมินติดตามอย่างต่อเนื่องทุก 6 และ 12 เดือนหลังการรักษาหาย การรักษาวัณโรคดื้อยาต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานาน และอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยบุคลากรทางการแพทย์6 ดังนั้นระบบการให้คำปรึกษาให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวโรคและการรักษารวมทั้งการใช้ยาเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดความร่วมมือของผู้ป่วย รวมทั้งเพิ่มอัตราการรักษาหายมากขึ้น