บททบทวนวารสาร
Review Article
การส่องกล้องตรวจคลื่นความถี่สูงผ่านทางหลอดอาหารด้วยกล้องส่องทางเดินหายใจ
Transesophageal Endoscopic Ultrasound with Convex Probe Endobronchial Ultrasound Scope, EUS-B
กุลชาติ เอกภูมิมาศ พ.บ.
พันเอกวิริสสร วงศ์ศรีชนาลัย พ.บ.
พลตรีอนันต์ วัฒนธรรม พ.บ.
สาขาวิชาโรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤตทางการหายใจ
ภาควิชาอายุรศาสตร์
วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
บทนำ
การส่องกล้องตรวจคลื่นความถี่สูงผ่านทางหลอดอาหารด้วยกล้องส่องทางเดินหายใจ (EUS-B) มีพื้นฐานเริ่มต้นจากการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารด้วยกล้องตรวจคลื่นความถี่สูงผ่านหลอดอาหาร (transesophageal ultrasound, EUS) แต่เป็นเทคนิคการทำ EUS โดยประยุกต์เอากล้องส่องตรวจอัลตราซาวด์ทางหลอดลม (endobonchial ultrasound, EBUS) มาใช้แทน โดยใช้เทคนิควิธีการทำเหมือนกับการทำ EUS ทั่วไป ปกติแล้วการทำ EUS นั้นมีวิวัฒนาการเริ่มต้นมาจากอายุรแพทย์ทางเดินอาหารเป็นหลัก ต่อมาเมื่อมีการพัฒนากล้องส่องทางเดินหายใจมากขึ้น จึงมีการพัฒนา EBUS ขึ้นมาโดยพัฒนามาจาก EUS อีกที ในปัจจุบันการทำ EBUS เพื่อการวินิจฉัย และการตรวจระยะของโรคมะเร็งปอด และมะเร็งในช่องทรวงอกถือเป็นมาตรฐานที่แนะนำในแนวทางปฏิบัติทั่วไป1 เนื่องจากเป็นการตรวจที่มีความไวและความจำเพาะสูงถึงร้อยละ 93 และร้อยละ 100 ตามลำดับ2 นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยในการทำหัตถการค่อนข้างสูงโดยมีค่าเฉลี่ยการเกิดภาวะแทรกซ้อนรวมที่ร้อยละ 1.233 และมีอัตราตายจากการทำหัตถการอยู่ที่ร้อยละ 0.014
ในปี พ.ศ.2550 มีการศึกษาที่รายงานถึงการใช้กล้อง EBUS ในการทำ EUS (EUS-B) ครั้งแรกในผู้ป่วยที่มีหลอดอาหารตีบแคบไม่สามารถใส่กล้องส่องทางเดินอาหารทั่วไปได้5 ต่อมาได้มีการศึกษาโดย Bin Hwangbo และคณะ6 ในปีพ.ศ.2552 ได้ทำ EUS-B ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำ EBUS ได้จากสาเหตุต่างๆ เช่น ก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองไม่สามารถเข้าถึงได้จาก EBUS หรือปัจจัยข้อจำกัดของตัวผู้ป่วยเอง พบว่า EUS-B นั้นปลอดภัย ช่วยวินิจฉัยและเพิ่มหรือเปลี่ยนระยะของมะเร็งปอดได้ หลังจากนั้นจึงได้มีการพัฒนาอุปกรณ์และประยุกต์ใช้ EUS-B ในการวินิจฉัยและตรวจหาระยะของมะเร็งปอดร่วมกับการทำ EBUS มากขึ้น โดยพบว่าสามารถช่วยเพิ่มความไวและความจำเพาะในการตรวจได้ สามารถเข้าถึงต่อมน้ำเหลืองในช่องอกที่ EBUS ไม่สามารถเข้าถึงได้ และสามารถลดอัตราการทำ mediastinoscopy ได้7 โดยมีความปลอดภัยมากกว่าการตรวจหาระยะของมะเร็งด้วยการผ่าตัด (surgical staging) นอกจากนี้ EUS ยังมีข้อดีกว่า EBUS อยู่บางประการซึ่งจะกล่าวต่อไป เป็นผลให้การทำ EUS-B ควบคู่ไปกับ EBUS เป็นที่ยอมรับ และมีการใช้ในเวชปฏิบัติมากขึ้นในปัจจุบัน
Read More