Pulmonary Function Test

SpiroThai 3.0 และ 4.0

การตรวจสมรรถภาพปอดด้วยเครื่อง spirometry นั้นมีประโยชน์ในการช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค และประเมินความรุนแรงของความผิดปกติของการทำงานของระบบการหายใจ แต่การแปลผลต้องอาศัยการเปรียบเทียบค่าที่วัดได้กับค่ามาตรฐาน ซึ่งค่ามาตรฐานนี้แปรผันตามเชื้อชาติ เพศ อายุ และความสูง โดยสามารถคำนวณได้จากสมการที่ได้จากการศึกษาวิจัย สำหรับประชากรไทยนั้น ในปัจจุบันใช้ค่ามาตรฐาน Siriraj equations ที่ได้จากการสำรวจในประชากรไทยที่สุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ (พ.ศ. 2543) อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2555 ได้มีความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกในการรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในประชากรหลากหลายเชื้อชาติ (โดยมีข้อมูลจากการสำรวจที่ใช้ใน Siriraj equations รวมอยู่ด้วย) และใช้กระบวนการทางสถิติสมัยใหม่ (GAMLSS) ทำให้ได้สมการที่มีความแม่นยำมากขึ้นในการคำนวณค่ามาตรฐานสมรรถภาพปอดสำหรับประชากรทั่วโลก เรียกว่า Global Lung Initiative (GLI)-2012 แต่เนื่องจากสมการนี้มีความซับซ้อนและยุ่งยากในการคำนวณ จึงยังไม่มีการใช้ที่แพร่หลายนักโดยเฉพาะในประเทศไทย โปรแกรม SpiroThai 3.0 หรือ 4.0 นี้จะช่วยให้สามารถคำนวณค่ามาตรฐานสมรรถภาพปอดในประชากรไทย โดยสามารถคำนวณได้ทั้งจากสมการของ GLI-2012 และของ Siriraj equations นอกจากนั้นยังเป็นโปรแกรมฐานข้อมูลสำหรับบันทึกผลการตรวจ การแปลผล และรายงานผลการตรวจด้วย

Read More

GLI 2012

The Quest for the Standard: Global Lung Initiative (GLI) 2012

บทความพิเศษ
วารสารวัณโรค โรคทรวงอกและเวชบำบัดวิกฤต
ปีที่ 37 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม พ.ศ. 2561

PDF

วันชัย เดชสมฤทธิ์ฤทัย พ.บ.

บทนำ

การตรวจสมรรถภาพปอดด้วยเครื่อง spirometry นั้นมีประโยชน์ในการช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค และ ประเมินความรุนแรงของความผิดปกติของการทำงานของระบบการหายใจ การแปลผลค่าที่ได้จากการตรวจ spirometry ว่าปกติหรือผิดปกตินั้นต้องอาศัยการเปรียบเทียบกับค่าปกติในประชากรทั่วไป เช่นเดียวกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ค่าปกติหรือค่ามาตรฐานของการตรวจ spirometry นั้นจะแปรผันตามปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ชาติพันธุ์ เพศ อายุ และความสูง โดยสามารถคำนวณได้จากสมการที่ได้จากการศึกษาวิจัยที่ได้จากการสำรวจในแต่ละเชื้อชาติ การศึกษาส่วนใหญ่ทำในประชากรทางตะวันตกซึ่งเป็นคอเคเซียน เช่น สมการของ European Community for Steel and Coal (ECCS)[1], Crapo[2], NHANES III[3] เป็นต้น สำหรับการศึกษาในประชากรในแถบอื่นมีน้อย ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นมองโกลอยด์นั้น มีสมการของ Lam และคณะ[4] ที่ทำการสำรวจในประชากรชาวฮ่องกงในปี พ.ศ. 2525

Read More