CPAP clinic during covid-19 pandemic

เวชปฏิบัติ
Clinical Practice

บทบาทของนักตรวจการนอนหลับ ในด้านการให้บริการ CPAP Clinic จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

กุสุมา มามณี วท.บ.
ธวัชชัย แพนอุชชวัน วท.ม.
ภคณัช พรมเคียมอ่อน วท.บ.

ศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล

บทนำ

ศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช ได้จัดตั้งคลินิกเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (CPAP Clinic) ให้การบริการเกี่ยวกับเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (continuous positive airway pressure, CPAP) ในกระบวนการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจผิดปกติที่สัมพันธ์กับการหลับ (sleep-related breathing disorders) โดยอุบัติการณ์ (incidence) ที่พบมากเป็นผู้ป่วยที่มีการกรน (snoring) และ ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA) แต่เนื่องด้วยช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว  ทั่วโลกจึงจำเป็นต้องหาวิธีป้องกันตนเองเพื่อให้มีชีวิตรอดด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ต่างไปจากวิถีเดิม จากสถานการณ์ดังกล่าว สถานพยาบาลจำเป็นต้องมี มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช ได้เล็งเห็นความสำคัญ นักตรวจการนอนหลับจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ภายใต้มาตรฐานการบริการที่เปลี่ยนไปจากเดิม เพื่อสร้างความปลอดภัยจากการติดเชื้อให้แก่ผู้รับบริการ บทความนี้จึงถูกจัดทำขึ้น เพื่อแสดงถึงบทบาทของนักตรวจการนอนหลับในการให้บริการ CPAP Clinic ในรูปแบบใหม่

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19  พบผู้คนเจ็บป่วย เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สร้างความสูญเสียให้กับสังคมโลก ผู้คนต้องปรับตัวหาสิ่งป้องกัน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คำว่า New Normal จึงเป็นที่คุ้นหูคุ้นตาในสังคม ราชบัณฑิตยสภา ได้ให้ความหมาย New Normal แปลว่า ความปกติใหม่ ฐานวิถีชีวิตใหม่ หมายถึง รูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ ที่แตกต่างจากอดีต อันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติ ที่คนในสังคมคุ้นเคย อย่างเป็นปกติ และเคยคาดหมาย ล่วงหน้าได้ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ ที่ไม่คุ้นเคย 1

ศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช นอกจากมีการให้บริการ การตรวจการนอนหลับอย่างครบวงจรแล้ว ยังมีบริการคลินิกเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า “Continuous Positive Airway Pressure: (CPAP)”2  ให้บริการยืม-คืน CPAP และอุปกรณ์, ถอดข้อมูล CPAP เพื่ออ่านผล, ซื้ออุปกรณ์, ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้งาน, ตลอดจนการซ่อมบำรุง  ซึ่งมีผู้ป่วยมารับบริการมากกว่า 70 คนต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการหลักกับการบริการทางการแพทย์ ปกติใหม่ ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) นักตรวจการนอนหลับจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การให้บริการที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้มาใช้บริการ

ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือ Obstructive Sleep Apnea (OSA)

เป็นโรคที่พบความผิดปกติของการนอนหลับโดยภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้ เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในการทำงานของทางเดินหายใจจนทำให้ เกิดการหยุดหายใจชั่วขณะ เป็นผลให้มีออกซิเจนต่ำขณะหลับ มักพบอาการนอนกรน ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน3 และอาจพบอาการแสดงที่บ่งถึงการนอนหลับไม่สนิท เช่น มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ หายใจสะดุด หรือสำลักร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงซึม ระหว่างวัน อ่อนเพลียมากผิดปกติ ไม่สดชื่น เหมือนนอนไม่อิ่ม มึนศีรษะ หงุดหงิดง่าย ความจำไม่ดี ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีมากน้อยแตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคล ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้จะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้

การรักษาโดยใช้ CPAP

เป็นการรักษาที่แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกแรก (first-line) โดยเฉพาะผู้ป่วย OSA ที่เป็นระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก หรือมีโรคร่วมสำคัญ (significant comorbidities) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น แต่สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ CPAP ได้ ยังมีทางเลือกการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การรักษาด้วยการผ่าตัด (surgical treatment) การรักษาด้วยอุปกรณ์ในช่องปาก (oral appliance: OA) หรือการรักษาทางเลือกอื่นร่วมด้วย (other alternatives) ตามความเหมาะสมของผู้ป่วย4

บทบาทของนักตรวจการนอนหลับใน CPAP Clinic

เป็นบทบาทของการมุ่งเน้นให้ความรู้ผู้ป่วยตั้งแต่ การเริ่มกระบวนการรักษา อธิบายลักษณะโรค สร้างความรู้ ความเข้าใจ และสาเหตุความจำเป็นของการใช้ CPAP ในการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับให้กับผู้ป่วย, สาธิตผู้ป่วยเกี่ยวกับการใช้ CPAP, ตรวจวิเคราะห์ผลการใช้ CPAP ของผู้ป่วย เพื่อส่งให้แพทย์ประเมินผลการรักษา ตลอดจนให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องการใช้งาน CPAP ให้กับผู้ป่วย ซึ่งหลังจากเริ่มมีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 นักตรวจการนอนหลับใน CPAP Clinic ได้ตระหนักถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรค จึงมีมาตรการในหลักปฏิบัติของการให้บริการดังต่อไปนี้

  1. รักษาระยะห่าง ลดความแออัด ใส่ใจ สุขอนามัย กำหนดจุดให้บริการ  จัดเตรียมแอลกอฮอล์เจลล้างมือให้ทุกคนสามารถล้างมือได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลา ผู้ป่วยรอคิวที่จุดบริการ ระยะห่าง 1-1.5 เมตร กำหนดช่วงระยะรอคิวเข้าใช้บริการ คิวละประมาณ 15-20 นาที ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยทุกราย5
รูปที่ 1 ผู้ป่วยรอคิวที่จุดบริการ ระยะห่าง 1-1.5 ม.

2. นักตรวจการนอนหลับสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เสื้อกาวน์แขนยาวรัดข้อมือ (laboratory coats), กระจังป้องกันใบหน้า (goggle หรือ face shield), หน้ากากกรองอากาศ (surgical mask ) พิจารณาใส่ถุงมือ โดยเฉพาะในกรณีที่คาดว่าจะมีการปนเปื้อนสูง นักตรวจการนอนหลับล้างมือก่อนและหลังการบริการผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้อุปกรณ์ที่แนะนำให้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเป็นมูลฝอยติดเชื้อ ได้แก่ ถุงมือและหน้ากากกรองอากาศ (surgical mask) ส่วนที่ใช้แล้วสามารถนำมาทำความสะอาดก่อนใช้ใหม่ ได้แก่ goggle หรือ face shield, เสื้อคลุมแขนยาวรัดข้อมือชนิดทำด้วยผ้า6

รูปที่ 2 นักตรวจการนอนหลับ ใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ในขณะปฏิบัติงาน

3. สร้างกระบวนให้ความรู้การใช้งาน และ การยืม-คืนอุปกรณ์แบบปกติใหม่ ฐานวิถีชีวิตใหม่ CPAP Clinic ศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช มีกระบวนการให้ยืม CPAP ไปทดลองใช้ที่บ้าน เพื่อวิเคราะห์ผลการรักษา ก่อนใช้จริง มีทั้งแบบชนิดต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ (auto-titrating continuous positive airway pressure: auto CPAP) และแบบชนิดตั้งค่าคงที่ (fixed continuous positive airway pressure: fixed CPAP)7 พร้อมหน้ากากและท่อลม จากเดิมในกระบวนการสาธิต นักตรวจการนอนหลับจะสาธิตวิธีการใช้ CPAP โดยตั้งค่าแรงดันของเครื่องภายใต้คำสั่งแพทย์ ใส่อุปกรณ์ให้ผู้ป่วย พร้อมกดปุ่มเปิดเครื่องให้ผู้ป่วยลองหายใจไปพร้อมกับเครื่อง การสาธิตดังกล่าวอาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของลมได้ หากพบผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคแฝงอยู่ อาจทำให้เชื้อโรคเกิดการแพร่กระจายได้ ภายใต้มาตรการปกติใหม่ นักตรวจการนอนหลับจะสาธิตวิธีการใช้งาน CPAP โดยให้ความรู้ความเข้าใจผ่านทางวิดีทัศน์ สาธิต สอนแสดงวิธีใส่อุปกรณ์กับหัวหุ่นจำลอง พร้อมเปิดลมจาก CPAP ตัวสาธิตให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีการใช้งานจำลองให้ผู้ป่วยลองใส่หน้ากากให้ตัวเองพร้อมต่ออุปกรณ์โดยไม่มีการกดปุ่มเปิดเครื่อง จนสามารถเรียนรู้วิธีใส่อุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง จึงจะสามารถอนุมัติเอกสารการยืม-คืน CPAP และอุปกรณ์ได้

รูปที่ 3. สาธิตวิธีการใช้งาน CPAP โดยสอนแสดงวิธีใส่อุปกรณ์กับหัวหุ่นจำลอง

การให้คำปรึกษาปัญหาของอุปกรณ์ การซ่อมบำรุง และการทำความสะอาด CPAP ก่อนการนำไปให้ผู้ป่วยทดลองใหม่ เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาการใช้งานเกี่ยวกับ CPAP หรืออุปกรณ์ จำเป็นที่จะต้องเปิดลมจากเครื่อง เพื่อให้ทราบถึงปัญหา นักตรวจการนอนหลับจะทำการคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวไปยังจุดให้บริการในพื้นที่ ที่สามารถเปิดลมของ CPAP ของผู้ป่วยได้  ป้องกันการฟุ้งกระจายของลม หากประเมินว่าแก้ไขได้ให้ทำการแก้ไข หากประเมินแล้วจำเป็นต้องส่งซ่อมบำรุง ให้ประสานงานการซ่อมต่อไป ในส่วนการทำความสะอาด CPAP ที่ใช้ภายในศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช เมื่อผู้ป่วยนำ CPAP การจากยืมทดลองใช้มาคืนแล้ว นักตรวจการนอนหลับจะส่ง CPAP ให้ตัวแทนของบริษัทเจ้าของเครื่อง ทำการเช็ค ทำความสะอาดเครื่องและกระเป๋า  อบโอโซนฆ่าเชื้อ ติดสติ๊กเกอร์แสดงวันเวลาในการฆ่าเชื้อทำความสะอาด งดนำ CPAP ที่อยู่ในระหว่างการทำความสะอาดมาทดลองต่อประมาณ 7 วัน นักตรวจการนอนหลับจะตรวจสอบความเรียบร้อยของ CPAP ที่ส่งคืนศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช หลังจากทำความสะอาดแล้วทุกครั้ง จากนั้นจึงจะสามารถนำมาให้ผู้ป่วยทดลองใช้ต่อไปได้

บทสรุป

จากมาตรการในหลักปฏิบัติของการให้บริการ CPAP Clinic ในแบบปกติใหม่ การบริการที่มีกระบวนการต่างไปจากเดิม แต่นักตรวจการนอนหลับยังคงต้องมีบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องสามารถอธิบายให้ผู้ป่วยได้รับทราบถึงลักษณะโรค ความรู้ ความเข้าใจ และสาเหตุความจำเป็นในการใช้ CPAP สามารถสาธิตให้ผู้ป่วยให้สามารถใช้เครื่องในการรักษาได้ ตลอดจนสามารถรายงานผลการใช้งานเครื่องของผู้ป่วยเพื่อส่งให้แพทย์ประเมินผลการรักษา และให้คำปรึกษาปัญหาและวิธีการดูแลรักษาอุปกรณ์ให้กับผู้ป่วยได้ ด้วยสถานะการแพร่ระบาดของ COVID-19  ที่ยังไม่สามารถหาวิธีการรักษา และสามารถยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อได้ การให้บริการ CPAP Clinic ของศูนย์นิทรรักษ์ศิริราชจึงเน้นย้ำวิธีการป้องกันและรับมือกับโรค COVID-19  ด้วยมาตรการที่สร้างความปลอดภัยและเหมาะสม ด้วยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ให้บริการและผู้ป่วย เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรค รวมถึงลดการแพร่กระจายเชื้อในสังคม

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบพระคุณ อ.ชวนนท์ พิมลศรี และ อ.ษรินทร์ รุ่งมณี แพทย์ประจำศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กรุณาให้คำปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะเป็นอย่างดีในบทความนี้

อกสารอ้างอิง

  1. กรุงเทพธุรกิจ. New Normal คืออะไร เมื่อโควิด-19 ผลักเราสู่ชีวิต ‘ปกติวิถีใหม่’ [อินเตอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 04 สิงหาคม 2563]. เข้าถึงจาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/882508
  2. คณิต มันตราภรณ์. ภาพรวมของผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น. ใน: วิชญ์ บรรณหิรัญ, ภาวิน เกษกุล, บรรณาธิการ. การกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น. พิมพ์ครั้งที่ 1. โรงพิมพ์เดือนตุลา: สำนักพิมพ์ศิริราช งานวิชาการ สำนักงานคณบดี; 2562. หน้า 1-3.
  3. สมาคมโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ, ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย. แนวทางการพัฒนาการวินิจฉัยและรักษา นอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในประเทศไทย สำหรับผู้ใหญ่ พ.ศ. 2560. ใน: ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์, ประสิทธิ์ มหากิจ, วิชญ์ บรรณหิรัญ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สเต๊ปส์ ดีไซน์แอนด์พรินท์; 2560. หน้า 5-22.
  4. วิชญ์ บรรณหิรัญ. หลักการและแนวทางการรักษาในภาพรวม. ใน: วิชญ์ บรรณหิรัญ, ภาวิน เกษกุล, บรรณาธิการ. การกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น. พิมพ์ครั้งที่ 1. โรงพิมพ์เดือนตุลา: สำนักพิมพ์ศิริราช งานวิชาการ สำนักงานคณบดี; 2562. หน้า 211-205.
  5. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์. New Normal 5 หัวข้อกับบริการทางการแพทย์ปรกติวิถีใหม่ เพื่อทุกชีวิตปลอดภัยเมื่อมาใช้บริการที่ “เรา” [อินเตอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 04 สิงหาคม 2563]. เข้าถึงจาก: https://www.chulabhornhospital.com/page.php?name=1127
  6. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย [อินเตอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 04 สิงหาคม 2563]. เข้าถึงจาก https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_other/g_other05.pdf
  7. วิชญ์ บรรณหิรัญ, เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ. การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก. ใน: วิชญ์ บรรณหิรัญ, ภาวิน เกษกุล, บรรณาธิการ. การกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น. พิมพ์ครั้งที่1. โรงพิมพ์เดือนตุลา: สำนักพิมพ์ศิริราช งานวิชาการ สำนักงานคณบดี; 2562. หน้า 230-227.

One thought on “CPAP clinic during covid-19 pandemic

  1. Pingback: ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 | Volume 39 Issue 3 | ThaiChest

Comments are closed.