*บทความนี้ได้ลงตีพิมพ์ในวารสารวัณโรคและโรคทรวงอก ในปี พ.ศ. 2539
ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานป้องกันและรักษาโรคปอด
สงคราม ทรัพย์เจริญ พ.บ., พ.ด. (กิตติมศักดิ์)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสนพระราชหฤทัยและมีบทบาทสำคัญยิ่งต่องานสาธารณสุขของชาติ รวมทั้งงานป้องกันและรักษาโรคปอด มาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี ตั้งแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ โดยเมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชของพระบามสมเด็จอพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์ท่านทรงทราบว่าชาวไทยเป็นวัณโรคกันมาก อีกทั้งไม่มีความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยและขาดแคลนยารักษาโรค จึงพระราชทานพระบรมราชาอนุญาตให้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ซึ่งเป็นเพลงแรกที่พระราชทานให้วงดนตรีนำไปบรรเลงในงานแสดงดนตรีการกุศลเพื่อหารายได้สมทบทุนช่วยเหลือโครงการรณรงค์ต่อต้านวัณโรคแห่งชาติของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมกับพระราชทานแบบจำลองเรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นผลงานฝีพระหัตถ์ออกประมูลในงานเดียวกัน เพื่อนำรายได้สมทบทุนในการต่อต้านโรคร้ายดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และได้ทรวงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือกิจกรรมต่อต้านวัณโรคเสมอมา
ในปี พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์พระราชทานให้สภากาชาดไทยเพื่อสำหรับใช้เป็นห้องปฏิบัติการผลิตวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค ซึ่งต่อมาองค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองคุณภาพวัคซีนบีซีจีที่ผลิตในประเทศไทย พร้อมกันนี้กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ได้นำวัคซีนดังกล่าวไปใช้ในต่างประเทศด้วยขณะเสด็จฯไปประทับในสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสวงหาตัวยาใหม่ๆ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรค โดยทรงสั่งซื้อพาราแอมมิไนซาลิไซลิก แอซิค หรือ พีเอเอส ซึ่งเป็นยารักษาวัณโรคขนานที่สอง แต่ในขณะนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักและทรงส่งยาดังกล่าวมารักษาผู้ป่วยในประเทศไทย ในเวลาต่อมาได้มีการค้นพบว่าเมื่อนำยาขนานนี้ไปใช้ร่วมกับสเตร็พโตมัยซิน ซึ่งเป็นยารักษาโรคขนานแรกที่ค้นพบสามารถช่วยป้องกันหรือชะลอการดื้อยาของเชื้อวัณโรคได้
ในส่วนของสาธารณสุขชนบท เมื่อปี พ.ศ.2495 พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรถพยาบาลเคลื่อนที่คันแรกให้กระทรวงสาธารณสุข สำหรับใช้ในงานรักษาพยาบาลผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดารซึ่งในขณะนั้นการคมนาคมไม่สะดวกเช่นสมัยนี้และปีนี้ พ.ศ.2498 ได้พระราชทานเรือพยาบาลเคลื่อนที่ “เวชพาห์” พร้อมเวชภัณฑ์ให้สภากาชาดไทยสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมแม่น้ำลำคลอง นอกจากนี้พระองค์ท่านยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรในพื้นที่ทุรกันดารด้วยพระองค์เอง
ในปี พ.ศ. 2517 กรุงเทพฯได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมิได้มีการวางแผนด้านสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอแก่การขยายตัวดังกล่าว ทำให้เกิดมลภาวะอันเป็นปัญหาต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีถึงความสำคัญของการปรับปรุงสุขภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่ดีของพสนิกร จึงได้ทรงริเริ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายฃโครงการในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นรวมทั้งการก่อสร้างสวนสาธารณะ เช่น สวนจตุจักร, สวนหลวง ร.9 เป็นสถานที่ออกกำลังกายของประชาชน โครงการพระราชดำรินี้ได้ขยายไปสู่การพัฒนา “บึงมักกะสัน” แหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาสภาพแวดล้อมและบรรเทาสภาพน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ, โครงการปลูกป่าทดแทนเพื่อรักษาความสมดุลทางธรรมชาติในทุกภูมิภาคของประเทศ และการปรับปรุงสภาพแวดล้อม รวมถึงโครงการบรรเทาปัญหาจราจรมลภาวะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ซึ่งรวมไปถึงการสร้างสะพานลอยคนข้าม ทางเข้า ระบบการระบายน้ำ การขยายและปรับปรุงผิวการจราจรการก่อสร้างทางยกระดับเพื่อให้การจราจรคล่องตัวขึ้นและยังเป็นการลดมลพิษจากยานยนต์อีกทางหนึ่งด้วย
ในส่วนของการสนับสนุนด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในแต่ละปี พระองค์ท่านได้พระราชทานทุนอานันทมหิดลให้แก่ผู้ที่เรียนดีเยี่ยมซึ่งสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์ให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศเพื่อให้ได้รับความรู้ความชำนาญมากขึ้น เพื่อกลับบ้านมาเป็นอาจารย์แพทย์ต่อไป และยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แพทย์นำพระอาการประชวรไปศึกษาค้นคว้า เพื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรด้วยโรคพระปับผาสะอักเสบ เนื่องจากเชื้อมัยโคพลาสมาซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อชนิดหนึ่งและเป็นคนไทยรายแรกที่ตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ หลังจากนั้นได้มีประชาชนสอบถามกันอย่างมากว่าเชื้อนั้นคือเชื้ออะไร เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบว่าเป็นการตรวจพบโรคนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย พระองค์จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รายงานให้วงการแพทย์ได้ทราบและเพื่อประชาชนจะได้ทราบด้วย ดังนั้นจึงได้มีการนำเรื่องการประชวรของพระองค์ท่านตีพิมพ์โดยไม่ได้กล่าวถึงชื่อผู้ป่วย ซึ่งเป็นวิธีการรายงานทางการแพทย์ในวารสารของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และวารสารฉบับนี้ได้ถูกส่งไปที่หอสมุดทางการแพทย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา และได้เผยแพร่ไปยังหอสมุดการแพทย์ทั่วโลก เพื่อเป็นเอกสารที่แพทย์นานาชาติได้ใช้ศึกษาและอ้างอิงต่อไป
จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณีกิจที่ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัยป้องกันและรักษาโรคปอดแก่ประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวโลกนี้ วิทยาลัยแพทย์ทรวงอกแห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Chest Physicians) จึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล Partnering for World Health อันเป็นการถวายรางวัลระหว่างชาติครั้งแรกของสถาบันดังกล่าว เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์สืบไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยได้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์มานานกว่า 50 ปี และได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณตั้งแต่พระองค์ยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ สมาคมฯสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ที่พระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินช่วยงานต่อต้านวัณโรคและโรคปอด และได้มีพระวิริยะ อุตสาหะ ตรากตรำพระวรกาย บำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาติบ้านเมืองและพสกนิกร รวมทั้งด้านสุขภาพอนามัยเป็นอเนกประการ ตลอดจนทรงมีพระเมตตาต่อสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ตลอดมา
ในโอกาสอันเป็นมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน