สมาคมปราบวัณโรคฯ

บทความในอดีต

บทบาทของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

บัญญัติ  ปริชญานนท์ พ.บ.
สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

บทบาทของสมาคมปราบวัณโรคฯ กล่าวโดยทั่วไปก็เป็นองค์การอาสาสมัครที่ทำหน้าที่สนับสนุนและร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐบาลในการรณรงค์ต่อต้านวัณโรค

มีบางท่านกล่าวว่าชื่อ “สมาคมปราบวัณโรค” ค่อนข้างจะเป็นชื่อโบราณ และมีหลายท่านที่คงจะไม่ทราบว่าสมาคมปราบวัณโรคทำหน้าที่อย่างไรบ้าง ผมใคร่จะถือโอกาสในวันนี้กล่าวถึงเรื่องราวของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์โดยย่อดังนี้คือ ในปี พ.ศ. 2463 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนกในรัชกาลปัจจุบัน ในสมัยที่ทรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงเห็นว่าวัณโรคมีอยู่แพร่หลายในประชาชนทั่วไปแต่ไม่ทราบว่าวิธีการรักษาพยาบาลและการป้องกันพระองค์จึงทรงนิพนธ์ เรื่อง “ทุเบอร์คุโลสิส” ประทานให้แก่กรมสาธารณสุขเพื่อจัดพิมพ์เป็นเอกสารสุขศึกษาแจกจ่ายให้แก่ประชาชน นับได้ว่าพระองค์ท่านเป็นองค์ผู้ริเริ่มงานต่อต้านวัณโรคในประเทศไทย

เนื่องจากพระราชดำริเรื่องวัณโรคนั้นแสดงถึงความห่วงใยประชาชน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2477 คณะกรรมการแพทยสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์จึงมีมติให้ตั้ง “กองการปราบวัณโรคของแพทยสมาคมแห่งกรุงสยาม” ขึ้น และได้จดทะเบียนสมาคมโดยสมบูรณ์ ตามกฎหมายเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับดำรงตำแหน่งองค์อุปถัมภก โดยรับสมาคมฯ นี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2478 นับได้ว่าสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ เป็นหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐในการควบคุมวัณโรคมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน และได้มีอายุครบ 50 ปี ไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2528 นี้

วิธีการควบคุมวัณโรคก็มีหลักการเหมือนกับการควบคุมโรคติดต่อชนิดอื่นโดยทั่วไป ปัจจัยสำคัญได้แก่การจัดให้มีโครงการควบคุมวัณโรคแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขนั้นจะดำเนินการได้อย่างสัมฤทธิ์ผล เมื่อฝ่ายรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาสาสมัคร ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลและองค์การอาสาสมัครต้องร่วมมือกันโดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันในการดำเนินงาน

การปฏิบัติงานในโครงการควบคุมวัณโรคแห่งชาติโดยทั่วไปประกอบด้วย ผู้ร่วมงานต่างๆ ดังนี้

หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายที่วางแผนโครงการจัดหางบประมาณ จัดหาและให้การฝึกฝนเจ้าหน้าที่ จัดการดำเนินงานทั้งในเรื่องทั่วไปและในด้านเทคนิค รวมทั้งการวัดผล

บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ทั้งที่เป็นหรือไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่าย อาทิเช่น แพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับวัณโรคในคลินิกต่างๆ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป บุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ เช่น รังสีแพทย์, นักจุลชีววิทยา, พยาบาล, นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ

ประชาชนทั่วไป ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการควบคุมวัณโรคอาจมีส่วนช่วยให้โครงการนี้สัมฤทธิ์ผลได้ดี ทั้งนี้โดยการให้ความสนใจสนับสนุนในการก่อตั้งสมาคม อาสาสมัครซึ่งประกอบด้วยประชาชนในระดับสังคมต่างๆ ในทุกๆ ประเทศที่มีการก่อตั้งสมาคมอาสาสมัครดังนั้นจึงได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินด้วยเสมอ นอกจากที่ได้รับการสนับสนุนเรื่องเงินทุนจากรัฐบาลแล้ว ประชนทั่วไปยังให้การสนับสนุนเรื่องเงินทุนและสนับสนุนเกี่ยวกับโครงการสุขศึกษาอีกด้วย

บทบาทของสมาคมปราบวัณโรคโดยทั่วไปคือ เป็นองค์การอาสาสมัครที่ให้ความร่วมมือและการสนับสนุนงานของรัฐบาลในโครงการควบคุมวัณโรคแห่งชาติ โดยการกระตุ้นเตือนและช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆของงานควบคุมวัณโรคของรัฐบาล นอกจากนี้สมาคมปราบวัณโรคยังอาจจะทำการศึกษา และประเมินผลกิจกรรมของรัฐบาล รวมทั้งสามารถให้คำแนะนำที่จะช่วยกันปรับปรุงโครงการควบคุมวัณโรคแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วย

สมาคมปราบวัณโรคฯ โดยทั่วไปมีบทบาทดังต่อไปนี้ :

ช่วยทำหน้าที่แทนในกิจการบางส่วนที่องค์การของรัฐยังไปไม่ถึง จะเห็นได้จากในหลายประเทศที่องค์การอาสาสมัครในการต่อต้านวัณโรคได้เริ่มมีกิจกรรมเป็นปึกแผ่น ก่อนองค์การของรัฐ ทั้งนี้รวมทั้งประเทศไทยเราในสมัยแรกด้วย ดังนั้นจึงเป็นที่ยอมรับในบางประเทศว่ากิจกรรมของสมาคมอาสาสมัครเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ ในโครงการควบคุมวัณโรคแห่งชาติ

ช่วยในการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการและเทคนิคต่างๆ ในการควบคุมวัณโรครวมทั้งช่วยในการเผยแพร่ความคิดเห็นและข้อแนะนำในปัญหาต่างๆ ทั้งนี้โดยให้ความร่วมมือกับองค์การของรัฐบาล

ติดตามผลงานของรัฐบาลในการควบคุมวัณโรค เพื่อช่วยแนะนำและปรับปรุงกิจกรรมต่างๆ ให้ได้ผลดีเต็มที่ ทั้งนี้โดยมีการร่วมมือกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบขององค์การอาสาสมัคร และองค์การของรัฐบาลอยู่เสมอ

ทำหน้าที่ในการเผยแพร่สุขศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกี่ยวกับโรคกิจกรรมของโครงการควบคุมวัณโรคแห่งชาติ ตัวอย่างเช่น การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย การที่ผู้ป่วยจะต้องมารับยาโดยสม่ำเสมอจนครบกำหนดการรักษา หรือแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนบีซีจี เป็นต้น

มีหน้าที่ที่จะสนับสนุนช่วยเหลือ ให้มีการก่อตั้งหน่วยงานอาสาสมัครระดับชุมชนในต่างจังหวัด หรือตั้งเป็นแบบชมรมต่อต้านวัณโรคขึ้น เพื่อให้งานควบคุมวัณโรคได้กระจายไปครอบคลุมชุมชนในชนบทอย่างทั่วถึง ทั้งนี้โดย

การจัดให้มีสุขศึกษาเกี่ยวกับโรค เช่น การจัดส่งเอกสารหรือโปสเตอร์ เป็นต้น

รวบรวมและเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ของงานควบคุมวัณโรคระดับชาติ

จัดให้มีการฝึกอบรมงานอาสาสมัครที่จะช่วยเหลือในการควบคุมวัณโรค

จัดให้มีการประชุมสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับวัณโรค ให้แก่แพทย์และเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

กระตุ้นเตือนให้ชมรมต่อต้านวัณโรคในต่างจังหวัด ทำกิจกรรมบางประการที่เหมาะสมกับโครงการควบคุมวัณโรคแห่งชาติ

สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการและสนับสนุนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ องค์การหรือสมาคมอาสาสมัครและสมาคมทางวิชาชีพอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันในการรักษา ควบคุมและกำจัดวัณโรคให้ลดน้อยลงมากที่สุด

สมาคมฯ ได้กำหนดวิธีการปฏิบัติไว้กว้างๆ ดังต่อไปนี้คือ :

ดำเนินการและร่วมมือกับองค์การของรัฐในด้านการป้องกันและควบคุมวัณโรค

สนับสนุนกิจกรรมการตรวจค้นหาผู้ป่วยและให้การรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากวัณโรคและลดการแพร่เชื้อลงโดยเร็วที่สุด

ดำเนินการและร่วมมือกับกลุ่มวิชาชีพ ในการวิจัยเรื่องวัณโรคและโรคระบบการหายใจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดำเนินการและส่งเสริมการสุขศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป เรื่องวัณโรคและโรคระบบการหายใจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่งเสริมและช่วยเหลือให้มีการขยายกิจการไปในต่างจังหวัดและชุมชนต่างๆ เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนโดยทั่วถึงตามความเหมาะสมกับสถานการณ์

กิจกรรมของสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ ในปัจจุบันโดยย่อ มีดังต่อไปนี้คือ :

1. งานให้สุขศึกษาแก่ประชาชน เพื่อให้การสุขศึกษาเรื่องวัณโรคแก่ประชาชน และเพื่อจัดหาทุนมาดำเนินการงานตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ สมาคมฯจึงจัดวันต่อต้านวัณโรคขึ้น ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2504 ต่อมาในระยะหลังได้ร่วมมือกับกองวัณโรค และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร จัดเป็นสัปดาห์ต่อต้านวัณโรคขึ้นในต้นเดือนสิงหาคมของทุกปี ยกเว้นปีนี้ที่ได้เลื่อนมาจัดในต้นเดือนกรกฎาคม เพื่อให้พรอ้มกับงานฉลองอายุครบ 50 ปี ของสมาคมปราบวัณโรคฯ ในระหว่างสัปดาห์ต่อต้านวัณโรคนี้ได้จัดให้มีนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัณโรค และความรู้เกี่ยวกับสุขศึกษาในการป้องกันและรักษาวัณโรคซึ่งประชาชนทั่วไปควรทราบ จัดให้มีการถ่ายภาพรังสีทรวงอก และฉีดวัคซีน บีซีจี ให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า พร้อมกันนี้ก็ได้ชักชวนให้นักเรียน, นักศึกษา, ลูกเสือและพยาบาลออกจำหน่ายดวงตราผนึกต่อต้านวัณโรค ทั้งนี้เพื่อหาทุนช่วยเหลือในกิจกรรมของสมาคมปราบวัณโรคฯ และช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรคและครอบครัวที่ยากจน

งานด้านสุขศึกษา นอกจากที่ทำกันเป็นพิเศษระหว่างงานสัปดาห์ต่อต้านวัณโรคแล้ว สมาคมฯ ยังได้จัดให้มีการให้สุขศึกษาแก่ประชาชนทางสื่อสารมวลชนทั่วไปในโอกาสอันเหมาะสม โดยจัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการป้องกันวัณโรคออกแจกจ่ายแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป นอกจากการเผยแพร่ความรู้ทางสุขศึกษาเกี่ยวกับโรคระบบการหายใจอื่นๆ อีกด้วย อาทิเช่น การเผยแพร่ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของการสูบบุหรี่เป็นต้น ทั้งนี้ได้มีการเผยแพร่โดยการแจกเอกสาร, โปสเตอร์, สติกเกอร์ และการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์, วิทยุ และโทรทัศน์เป็นครั้งคราว

2. งานด้านการรักษาพยาบาล สมาคมปราบวัณโรคฯ มีโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือทันสมัยในการวินิจฉัยและรักษาวัณโรคและโรคปอดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น มะเร็งของปอดและโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

สมาคมฯ มีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยในการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยทั่วไป รวมทั้งการตรวจเลือด, ตรวจเสมหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจเสมหะโดยการย้อมสี เพาะเชื้อ และการตรวจหาความไวของยาชนิดต่างๆ ต่อเชื้อวัณโรค สมาคมฯ ได้ให้บริการเกี่ยวกับการวินิจฉัยวัณโรคทางห้องปฏิบัติการแก่โรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพมหานครทั้งมีนโยบายที่จะบริการแก่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้มีการวินิจฉัยวัณโรคและโรคระบบการหายใจอื่นๆ ได้อย่างถูกต้อง

3. งานด้านสังคมสงเคราะห์ สมาคมฯ ได้ให้ความช่วยเหลือ ในด้านการรักษาพยาบาลและด้านสังคมสงเคราะห์ แก่ผู้ป่วยวัณโรคที่ยากจนที่ป่วยเป็นวัณโรคและโรคระบบการหายใจอื่นๆ ตามสมควร โดยช่วยลดค่ารักษาพยาบาล หรือให้การรักษาโดยไม่คิดมูลค่าแก่ผู้ป่วยตามความจำเป็น โดยพิจารณาเป็นรายๆไป นอกจากนี้ยังได้มอบเงินช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ให้แก่สถานตรวจโรคปอดกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลโรคทรวงอกเป็นประจำทุกปี รวมทั้งได้ให้การช่วยเหลือแก่คลินิกวัณโรคในต่างจังหวัดเป็นครั้งคราวด้วย

4. งานด้านวิชาการ

ก. สมาคมฯ ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการเกี่ยวกับวัณโรคและโรคระบบการหายใจที่เกี่ยวข้องทุกสัปดาห์ในบ่ายวันพฤหัสบดี โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคระบบการหายใจจากสถาบันต่างๆ มาร่วมประชุมด้วยหลายท่าน มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลสมาคมปราบวัณโรคและรับให้คำปรึกษาแก่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือแพทย์จากสถาบันอื่นๆ ที่สนใจจะนำปัญหาผู้ป่วยมาร่วมในการประชุมด้วย

ข. สมาคมฯ จัดพิมพ์วารสารทางวิชาการ “วารสารวัณโรคและโรคทรวงอก” ออกเผยแพร่ให้แก่แพทย์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทุก 3 เดือน

ค. จัดให้มีการอบรมฟื้นฟูวิชาการวัณโรคประจำปีสำหรับแพทย์ทั่วไป โดยเฉพาะแพทย์ที่มาจากต่างจังหวัดครั้งละ 5 วัน เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2519 การอบรมนี้เป็นการอบรมวิชาการวัณโรคโดยทั่วไปสำหรับแพทย์ในด้านการรักษาและการป้องกันโรค และได้ร่วมมือกับสมาคมฯ ทางวิชาชีพอื่นในการอบรมเผยแพร่วิชาการให้แก่สมาชิกและแพทย์ทั่วไปปีละ 3-4 ครั้ง รวมทั้งการประชุมใหญ่ประจำปี อาทิเช่น สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมศัลยกรรมทรวงอก ฯลฯ เป็นต้น และได้ร่วมมือกับสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในการจัดทำการอบรมวิชาการโรคทรวงอกและวัณโรคแก่แพทย์ทั่วไป ซึ่งมีการจัดครั้งละ 5 วัน ปีเว้นปี

นอกจากนั้นสมาคมฯ ได้จัดให้มีปาฐกถาทางวิชาการโรคทรวงอกเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเมื่อมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาเยือน

นอกจากงานทางวิชาการต่างๆ ที่จัดเป็นประจำ ดังกล่าวมาแล้ว สมาคมปราบวัณโรคฯ ได้มีกิจกรรมทางวิชาการเป็นพิเศษอื่นๆ อีก ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2525 สถาบันโรคทรวงอก สมาคมปราบวัณโรคฯ ได้ร่วมกับกองวัณโรค กรมควบคุมโรคติดต่อ และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการควบคุมวัณโรคครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27-28 ตุลาคม 2525 ณ อาคารสถาบันโรคทรวงอก สมาคมปราบวัณโรคฯ เพื่อให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชนเข้าใจแผนงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติ และนำการปฏิบัติงานควบคุมวัณโรคที่เหมาะสมไปใช้ในเขตอำเภอที่รับผิดชอบ ทั้งนี้โดยมีแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ในภาคกลางเข้ารับการอบรม และมีแพทย์หัวหน้าศูนย์บริการสาธารณสุขของสำนักอนามัยกรุงเทพมหานครมาร่วมด้วย ในระยะต่อมาได้มีการประเมินผลเกี่ยวกับการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้โดยกองวัณโรค กรมควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งผลการประเมินดังกล่าว นับว่าได้ผลดีเป็นที่พอใจ

สมาคมฯ ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “การตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์” ขึ้นจำนวน 1,000 เล่ม แจกเป็นอภินันทนาการแก่หน่วยงานต่างๆ เช่น โรงพยาบาลชุมชน, โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลทั่วไป รวมทั้งศูนย์วัณโรคเขตต่างๆ ด้วย เพื่อให้แพทย์และพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป รวมทั้งพนักงานชันสูตรโรคในห้องปฏิบัติการ ได้เข้าใจถึงความสำคัญของการตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์ รู้จักเทคนิคการตรวจ รวมทั้งวิธีการดูแลรักษากล้องจุลทรรศน์อีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2526 สมาคมฯ ได้ส่งผู้แทน 4 คน ไปร่วมประชุมในการประชุมระหว่างชาติ ภาคพื้นตะวันออกครั้งที่ 13 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 20-25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 ทั้งนี้ได้ร่วมกับกองวัณโรค กรมควบคุมโรคติดต่อ ส่งเรื่องทางวิชาการเข้าร่วมประชุมด้วย 1 เรื่อง คือเรื่อง “Tuberculosis Control Programme in District Hospital of Thailand”

นอกจากนี้สมาคมฯ ได้จัดพิมพ์เอกสารสุขศึกษาสำหรับประชาชนเรื่อง “วัณโรคปอด” จำนวน 20,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ

ในปี พ.ศ. 2527 สถาบันโรคทรวงอก สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับกองวัณโรคกรมควบคุมโรคติดต่อและสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “การทำทะเบียนและการรับส่งต่อผู้ป่วยวัณโรค” ขึ้น 2 ครั้ง ณ ห้องประชุมอาคารสถาบันโรคทรวงอก เนื่องจากสมาคมฯ ตระหนักว่า การทำทะเบียนและการรับส่งต่อผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ครบระยะเวลาโดยถูกต้อง

ครั้งที่ 1 เป็นการสัมมนาสำหรับแพทย์ของศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร จำนวน 50 คน ระหว่างวันที่ 21-22 มิถุนายน 2527

ครั้งที่ 2 เป็นการสัมมนาสำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 83 คน ระหว่างวันที่ 5-6 กรกฎาคม พ.ศ. 2527

นอกจากนี้ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการสาธารณสุขที่จะทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยวัณโรครวม 29 คน เรื่อง “การทำทะเบียนและการรับส่งต่อผู้ป่วย” ในวันที่ 20-21 กันยายน 2527 การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้ผู้เข้ารับการอบรมได้นำความรู้จากการสัมมนาไปใช้ปฏิบัติการได้จริงจัง เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ และวิธีการแก้ไข

สถาบันโรคทรวงอก สมาคมปราบวัณโรคฯ ยังได้จัดการอบรมวิชาการระยะสั้น สำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป เรื่อง “Management of Pulmonary Tuberculosis, update” ขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้เกี่ยวกับการรักษาวัณโรคที่ถูกต้องในปัจจุบันมีแพทย์เข้ารับการอบรม 47 คน

สถาบันโรคทรวงอก สมาคมปราบวัณโรคฯ ได้จัดพิมพ์เอกสารเรื่อง “สุขภาพหรือบุหรี่อยู่ที่ท่านจะเลือก” จำนวน 10,000 เล่ม เพื่อเผยแพร่ถึงอันตรายอันร้ายแรงของการสูบบุหรี่แก่นักเรียน, นักศึกษาและประชาชนทั่วไป นอกจากนั้น ยังได้จัดพิมพ์สติกเกอร์ต่อต้านการสูบบุหรี่ แจกจ่ายไปตามสถานที่สาธารณสุขต่างๆ อีกเป็นจำนวน 3,000 แผ่น

5. การขยายงานของสมาคมปราบวัณโรคฯ ไปยังต่างจังหวัด

จากการศึกษาทางระบาดวิทยาของกองวัณโรคกรมควบคุมโรคติดต่อจะเห็นได้ว่ายังมีปัญหาเรื่องการควบคุมวัณโรคในชนบทของประเทศไทยอยู่เป็นอันมาก สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงมีนโยบายที่จะขยายงานไปยังชนบท เพื่อจะได้สนับสนุนงานของรัฐบาลในการควบคุมวัณโรคให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้โครงการควบคุมวัณโรคแห่งชาติได้ดำเนินการไปโดยดีครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ตามนโยบายที่วางไว้

ในปี พ.ศ. 2522 คณะกรรมการบริหารของสมาคมปราบวัณโรคฯ ได้เริ่มมีการปรึกษาหารือและกำหนดนโยบายขยายงานในต่างจังหวัด ทั้งนี้ในระยะแรกได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพต่อต้านวัณโรคระหว่างชาติ ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ได้มีการสนับสนุนให้ทุนในการศึกษาวิธีการปฏิบัติงาน ด้านอาสาสมัครต่อต้านวัณโรคในท้องที่ชนบทต่างๆ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับท้องถิ่น สำหรับหลักการและนโยบายที่สมาคมฯ วางไว้ในขั้นตอนคือ การพยายามกระตุ้นเตือนและริเริ่มให้จังหวัดต่างๆ เห็นความสำคัญ และดำเนินงานให้มีบริการอาสาสมัครต่อต้านวัณโรคขึ้น โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มหรือชมรมต่อต้านวัณโรคขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นในระดับจังหวัดหรืออำเภอ เพื่อเป็นแกนเชื่อมโยงประสานการดำเนินงานของรัฐและอาสาสมัครต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์กับงานควบคุมวัณโรคทั่วถึงและได้ผลดียิ่งขึ้น ทั้งนี้สมาคมปราบวัณโรคในส่วนกลางจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือทางวิชาการ, ทางด้านการปฏิบัติงาน และปัจจัยอื่นตามความเหมาะสม

โครงการการปฏิบัติงานในต่างจังหวัด นัยว่ายังอยู่ในระยะดำเนินการยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งนโยบายไว้ งานเท่าที่ได้ปฏิบัติไปแล้วได้แก่

ก. ติดต่อปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ของสมาคมปราบวัณโรคเชียงใหม่ โดยพยายามเน้นและสนับสนุนให้สมาคมปราบวัณโรคเชียงใหม่เป็นตัวกลางติดต่อกับกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ในท้องถิ่นให้ช่วยปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์กับงานควบคุมวัณโรค

ข. ติดต่อสอบถามข้อมูลและข้อคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ และบุคคลที่อาจจะเป็นกำลังในการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมอาสาสมัครต่อต้านวัณโรคในจังหวัดต่างๆ อาทิเช่น จังหวัดนนทบุรี, จังหวัดขอนแก่น, และจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นต้น

ค. ได้ติดต่อกับ สสจ. และบุคคลอื่นในจังหวัดชลบุรี จนสามารถตั้งชมรมต่อต้านวัณโรคจังหวัดชลบุรีขึ้นได้ในปี พ.ศ.2523 นับว่าเป็นองค์การหรือกลุ่มประสานงานทั้งในระดับอำเภอและหน่วยงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่มีอยู่แล้ว ในโครงการสาธารณสุขมูลฐาน ทั้งนี้มีโครงการประสานงานให้อาสาสมัครได้รับการอบรม นำความรู้ไปแนะนำชาวบ้านให้ไปรับการตรวจรักษาโดยถูกต้องรวมทั้งการแนะนำให้ไปรับการฉีดวัคซีน บีซีจี ป้องกันวัณโรค เป็นต้น ชมรมต่อต้านวัณโรคจังหวัดชลบุรีได้ดำเนินงานรณรงค์ต่อต้านวัณโรคประจำปี ร่วมกับสัปดาห์ต่อต้านวัณโรคของสมาคมปราบวัณโรคฯ ในส่วนกลาง สมาคมฯ ได้จัดส่งดวงตราผนึกฯไปให้ชมรมจำหน่าย และมอบรายได้นั้นจัดเป็นทุนของชมรมเพื่อใช้จ่ายในงานอาสาสมัครที่ชมรมพิจารณาเห็นสมควร 

สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ มีนโยบายที่จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมอาสาสมัครต่อต้านวัณโรคในท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีผู้สนใจอยู่เสมอ สมาคมฯ พร้อมที่จะให้มีการสนับสนุนแก่หน่วยงานในต่างจังหวัดอื่นๆ และโรงพยาบาลชุมชนที่มีความต้องการในรูปแบบต่างๆ เช่นการให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับการตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์และการให้ทุนอุดหนุนในโครงการควบคุมวัณโรคที่เหมาะสม